การคำนวณ Indicator Weighted Moving Average (WMA) ผ่าน EXCEL มีความคล้ายคลึงกับ SMA แต่ต่างกันตรงที่การให้น้ำหนักความสำคัญของข้อมูลในแต่ละจุด โดย WMA ให้น้ำหนักกับข้อมูลที่ใกล้ปัจจุบันมากที่สุด และค่อยลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลทำให้ความสำคัญของข้อมูลมีความสำคัญที่ไม่เท่ากัน ซึ่งต่างกับ SMA ที่จะให้น้ำหนักของข้อมูลทุกจุดเท่ากัน สามารถอ่านได้บทความการคำนวณ SMA ได้จาก ค่า Period กับ Indicator SMA ผ่าน excel
WMA เป็นอีกหนึ่ง indicator ทางเทคนิคที่ เทรดเดอร์ หลายคนนิยมใช้เพื่อการพยากรณ์ราคาเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อและขาย โดยก่อนที่จะคำนวณ เราจะต้องทำการกำหนด “น้ำหนัก(weight)” ของข้อมูลแต่ละตัวก่อนว่าจะให้น้ำหนักเท่าใด
การคำนวณ WMA แบบคิดในกระดาษ
ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถ่วงน้ำหนัก จะให้น้ำหนักกับข้อมูลล่าสุดมากกว่าข้อมูลที่ห่างออกไปในอดีตโดยมีการกำหนดน้ำหนักให้มากกว่าข้อมูลในอดีตอื่น ๆ ในขณะที่ข้อมูลที่มีความล้าหลังจะถูกกำหนดให้มีน้ำหนักน้อยลง เมื่อใช้ตัวเลขแต่ละตัวที่มีน้ำหนักต่างกัน ผลรวมของน้ำหนักของทุกข้อมูลควรเท่ากับ 1 หรือ 100%
โดยที่ค่า WMA สามารถคำนวณได้จากสูตร
WMA = (Sum of Weighted Averages) / (Sum of Weighted)
ขั้นตอนการคำนวณ
ระบุข้อมูลที่ต้องการหาค่าเฉลี่ย
ตัวอย่าง พิจารณาราคาหุ้นตัวหนึ่ง ในช่วง 4 วัน พบว่ามีราคาปิดที่ 1, 2 , 3 และ 4 ตามลำดับ
จะพบว่าชุดข้อมูลที่เราสนใจหาค่า WMA(4) คือ 1, 2 , 3 และ 4 ตามลำดับ
กำหนดน้ำหนักของแต่ละข้อมูล
ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ล่าสุดมากกว่าข้อมูลในอดีต โดยในที่นี้จะกำหนดน้ำหนักข้อมูลล่าสุดเป็น 0.4, ข้อมูลในอดีตถัดจากข้อมูลล่าสุดเป็น 0.3, ข้อมูลถัดไปเป็น 0.2, และ ข้อมูลสุดท้ายเป็น 0.1ตามลำดับ
หมายเหตุ: เราสามารถกำหนดน้ำหนักของข้อมูลได้เองตามสมมติฐานของข้อมูล
วันที่ (Day) | น้ำหนัก (w) | ข้อมูล (x) |
1 | 0.1 | 1 |
2 | 0.2 | 2 |
3 | 0.3 | 3 |
4 | 0.4 | 4 |
หาค่า Sum of Weight Averages
หลังจากกำหนดน้ำหนักของข้อมูลในแต่ละจุดแล้ว ขั้นตอนถัดไป คือ การ นำข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 4 มาคูณด้วยน้ำหนักของข้อมูลนั้น เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของแต่ละข้อมูล แล้วจึงนำผลลัพธ์ไปรวมกันเพื่อหาค่า Sum of Weight Averages โดยได้ผลลัพธ์ดังตาราง
วันที่ (Day) | น้ำหนัก (w) | ข้อมูล (x) | ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก |
1 | 0.1 | 1 | = 0.1 x 1 = 0.1 |
2 | 0.2 | 2 | = 0.2 x 2 = 0.4 |
3 | 0.3 | 3 | = 0.3 x 3 = 0.9 |
4 | 0.4 | 4 | = 0.4 x 4 = 1.6 |
ดังนั้น ค่า Sum of Weight Average = 0.1 + 0.4 +0.9 + 1.6 = 3
หมายเหตุ: Sum of Weight Average = w1x1 + w2x2 + w3x3 +…wnxn
โดยที่ wn คือน้ำหนักของข้อมูลที่สนใจ
Xn คือ ข้อมูลที่สนใจ
หาค่า Sum of Weight
เป็นการหาผลรวมของน้ำหนักของข้อมูลที่เราสนใจ จากข้อมูลข้างต้นจะได้ว่า
Sum of Weight = 0.1 + 0.2 + 0.3 + 0.4 = 1
คำนวณ ค่า WMA
จากขั้นตอนที่ 3 เราทราบว่า Sum of Weight Average = 3
จากขั้นตอนที่ 4 เราทราบว่า Sum of Weight = 1
ดังนั้น WMA = (Sum of Weighted Averages) / (Sum of Weighted) = 3/1 = 3
เมื่อผ่านขั้นตอนทั้ง 5 เทรดเดอร์ จะได้ค่า WMA เพื่อนำไปใช้งานต่อไป
การคำนวณ WMA ผ่าน EXCEL
จะเห็นได้ว่า ถ้าคำนวณโดยผูกสูตรคำนวณตรง ๆ กับ EXCEL นั้นจะค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะเมื่อต้องทำการเปลี่ยนค่า Period หรือ ช่วงของชุดข้อมูล และ ค่าน้ำหนักของข้อมูลแต่ละตัว
โปรแกรม EXCEL มีฟังก์ชันที่ช่วยให้เราคำนวณค่า WMA ได้ง่ายขึ้น โดยสามารถคำนวณ Sum of Weighted Averages และ Sum of Weighted ได้โดยใช้ฟังก์ชันเพียง 2 ตัวเท่านั้น ผมจะแบ่งปันเทคนิคที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ดังรูปที่สามารถคำนวณ WMA(4), WMA(5), WMA(6), …WMA(10)
ฟังก์ชัน SUMPRODUCT
เป็นการหาผลรวมของผลคูณของข้อมูลที่กำหนด ในที่นี้เราใช้คำนวณค่า Sum of Weighted Averages ซึ่งจะทำการใส่สูตรเป็น SUMPRODUCT($D$7:$D$10,E7:E10) โดยทำการล็อคค่าคงที่ไว้ด้วยเครื่องหมาย $ D$ เพื่อไม่ให้ค่าน้ำหนักที่เรากำหนดเลื่อนเมื่อทำการลากสูตรใน EXCEL
เสร็จแล้วจึงทำการลากสูตรจาก F10 ลงมาจนถึง F16 เพื่อให้สามารถคำนวณค่า WMA ได้แบบอัตโนมัติ
ฟังก์ชัน SUM
ในส่วนของ ฟังก์ชัน SUM นั้นตรงไปตรงมา เป็นการหาผลรวมของน้ำหนักข้อมูลในช่วงที่เรากำหนด โดยทำการล็อคค่าน้ำหนักไว้เช่นกันด้วย $D$7
รวมสูตร EXCEL ในการหา WMA(4)
สูตรรวมในการหาค่า WMA(4) จึงเป็น
=SUMPRODUCT($D$7:$D$10,E7:E10)/SUM($D$7:$D$10)
โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดการปรับค่า Weight และค่า Period เพิ่มเติมได้โดยเข้าไปดูคลิปวีดีโอด้านล่าง
สรุป
WMA มีความแตกต่างจาก SMA โดยที่มีการให้ความสำคัญของข้อมูลล่าสุดสูงสุด และลดความให้ความสำคัญลงเมื่อข้อมูลอยู่ในช่วงเวลาในอดีต ในการคำนวณเราสามารถกำหนดค่า Weight ได้ตามที่ต้องการ โดยจะต้องคำนวณหาตัวแปร 2 ตัวแปร เพื่อนำมาหาโดยใช้สูตร WMA = (Sum of Weighted Averages) / (Sum of Weighted)
การใช้ฟังก์ชัน SUMPRODUCT และ SUM ใน EXCEL จะช่วยการคำนวณทำได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการปรับค่า Weight และค่า Period ของ WMA
ดาวโหลดไฟล์ EXCEL ได้ตามลิงค์ด้านล่าง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
- Trading View
- CFI
- Barry Cobb (youtube)
- Babypips
น้ำมัน บทความยอดนิยม ประวัติเทรดเดอร์ พื้นฐาน technical analysis เทรดเดอร์มือใหม่ ์Indicator
*บทความนี้ไม่มีและไม่ควรถูกตีความว่า มีการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำเสนอสำหรับการทำธุรกรรมใดๆ ในเครื่องมือทางการเงินต่างๆ โปรดทราบว่าการวิเคราะห์การซื้อขายดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออนาคต เนื่องจากสภาวการณ์อาจมีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน